วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เท้าลูกใน "ซี่ล้อจักรยาน" ภัยที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม



รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
       เมื่อเอ่ยถึงจักรยาน พาหนะสองล้อที่พาเราไปได้แทบทุกหนแห่งโดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานอื่นใด เว้นแต่พลังงานจากน่องของผู้ปั่น ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเลือกใช้จักรยานเป็นพาหนะคู่ใจในการขับไปส่งลูกที่โรงเรียนกันก็บ่อย ปั่นไปกินลมชมวิวในสวนสาธารณะกันก็มาก
      
       อย่างไรก็ดี การใช้งานพาหนะชนิดนี้ก็ยังมีอันตรายแฝงอยู่ โดยเฉพาะส่วนของซี่ล้อจักรยานที่อาจมีเท้าเล็ก ๆ ของลูกหลงเข้าไปให้มันปั่นจนทำลูกเล็กน้ำตานองกันได้ 

      
       ภัยที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นข้างต้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า เป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนประมาท ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า เด็กกับจักรยานมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพ่อแม่อุ้มเด็กนั่งซ้อนท้ายจักรยานของผู้ใหญ่ที่ไม่มีการป้องกัน หรือความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานดีพอ
      
       "ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ามีความเสี่ยง แต่ก็ยังมีหลายท่านมองข้ามกันไป เห็นได้จาก เวลาอุ้มลูกขึ้นนั่งจักรยาน รู้ว่าเท้าลูกอาจเข้าไปติดในซี่ล้อได้ แต่ก็เพียงเตือนลูกแค่ว่า กางขาไว้นะลูก กางขาไว้นะ จนสุดท้าย เด็กก็คือเด็ก เท้าก็เข้าไปอยู่ซี่ล้อ เกิดการบาดเจ็บตามมา พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ เพราะสงสารลูก" หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ กล่าว
      
       สำหรับการบาดเจ็บของเด็กจากจักรยานที่พบได้บ่อยนั้น หัวหน้าศูนย์วิจัยฯ ท่านนี้ เผยว่า มีอยู่ 2 อย่าง คือ การบาดที่ศีรษะ และการบาดเจ็บจากเท้าที่เข้าไปในกงซี่ล้อ โดยการบาดเจ็บที่ศีรษะนั้นเป็นสาเหตุสำคัญของการตายในเด็กบนจักรยานเลยทีเดียว
      
       ส่วนการบาดเจ็บจากเท้าที่เข้าไปในซี่ล้อจักรยาน ทีมงานมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ระบุว่า ร้อยละ 5.7 ของการบาดเจ็บของเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีที่มารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน ในจำนวนนี้ร้อยละ 33 หรือ 1ใน 3 เกิดจากขาเข้าในซี่ล้อรถจักรยาน ซึ่งการบาดเจ็บชนิดนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก อายุเฉลี่ยของผู้บาดเจ็บเท่ากับ 4.7 ปี ร้อยละ 62.5 ของเด็กที่บาดเจ็บมีอายุน้อยกว่า 5 ปี ลักษณะการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บที่ผิวหนังโดยมีลักษณะแบบแผลถลอก แผลฉีกขาด
เท้าลูกในซี่ล้อจักรยาน รู้ว่าเสี่ยงแต่กลับมองข้าม
       อย่างไรก็ดี ทั้งการบาดเจ็บที่ศีรษะ และเท้าของลูกที่เข้าไปติดในซี่ล้อ สามารถป้องกันได้โดยใช้หมวกนิรภัย และการใช้เบาะนั่งพิเศษสำหรับเด็กที่มีระบบยึดเหนี่ยวเด็กติดตัวไว้
      
       ส่วนการบาดเจ็บจากเท้าเข้าไปในซี่ล้อให้ใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กที่ออกแบบให้มีที่วางเท้า ซึ่งในต่างประเทศมีใช้กันทั่วไป หรือถ้าแบบประหยัดเพียง มีอุปกรณ์ป้องกันเท้าเข้าซี่ล้อเช่นเดียวกับล้อหลังมาติดตั้งที่ล้อหน้า หรือติดตั้งที่วางเท้าเป็นเพียงท่อนไม้ หรือโลหะที่มีความยาวเพียงพอ และวางได้ระดับที่เด็กจะวางเท้าลงได้ ก็จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้มาก
      
       "ในเด็กเล็ก พ่อแม่ไม่ควรพาลูกนั่งซ้อนหน้า หรือซ้อนท้ายจักรยานเลย ส่วนเด็กอายุมากกว่า 9 เดือนขึ้นไปถึง 4 ปี แนะนำให้ใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก และมีอุปกรณ์เสริมติดแน่นทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมทั้งเลือกใช้จักรยานมีที่กั้นล้อเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เท้า หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เช่น หมวกนิรภัย หรือที่ป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อศอก และเข่า" รศ.นพ.อดิศักดิ์ฝาก
      
       เห็นได้ว่า การบาดเจ็บจากจักรยาน โดยเฉพาะเท้าที่เข้าไปในซี่ล้อนั้น เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยถ้าพ่อแม่มีความรู้ ห่วงใยลูก และเข้าใจในคำว่าอุบัติเหตุ ดังนั้นการเลือกใช้จักรยานควรมีอุปกรณ์ป้องกันที่ดี แล้วความสุขในวันหยุดกับครอบครัวจะมีแต่รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะตามมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น