วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

“กินสุกแซ่บหลาย ต้านภัยมะเร็งตับ” ภารกิจหนุ่มสาวอีสาน นำท้องถิ่นห่างไกลโรคร้าย



“คนบ้านเฮาโดยเฉพาะบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ มักกินสุกๆ ดิบๆ อย่างก้อยปลา พล่าปลา ปลาร้า ปลาจ่อม หากทำให้สุกรสชาติมันก็ไม่อร่อย โดยที่ไม่รู้ว่าในความอร่อยแบบธรรมชาติตามความเชื่อเดิมๆ นั้น แฝงไว้ซึ่งมหันตภัยร้าย ใกล้ตัวอย่างมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี” นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ยังคงติดอยู่กับกรอบความเชื่อเดิมๆ และมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารแบบ สุกๆ ดิบๆ จึงทำให้ภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ในอัตราที่สูงที่สุดของประเทศ" 
      
       นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ลดสถิติ การเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ที่คร่าชีวิตชาวอีสานในแต่ละปีเป็นลำดับต้นๆ ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ในการต่อต้านโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี โดยจัดตั้งโครงการ “เรียนรู้เท่าทัน ป้องกันมะเร็งตับ” และสร้างสรรค์กิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่ภาคอีสาน ภายใต้ชื่อ “กินสุกแซ่บหลาย ต้านภัยมะเร็งตับ” เพื่อลงพื้นที่ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการบริโภคอาหารของคนในท้องถิ่นที่นิยมทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะการรับประทานปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ด ซึ่งถือเป็นปลาที่นำเชื้อพยาธิใบไม้ตับเข้าสู่ร่างกายโดยตรง รวมถึงเมนูอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ทั้งอาหารจำพวกโปรตีนหมักที่มีสารไนโตรซามีน เช่น ปลาร้า ปลาส้ม และอาหารพวกเนื้อสัตว์ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก เนื้อเค็ม เป็นต้น ล่าสุด ได้ผนึกกำลัง “อสม.เยาวชน” ในการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติในการรับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ เพื่อให้ห่างไกลจากมะเร็งร้าย
      
       “เปี๊ยก” ทรงพล พันโยศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตัวแทนกลุ่ม “อสม.เยาวชน” อีกหนึ่งพลังคนรุ่นใหม่ที่พร้อมอุทิศตัวเองเพื่อชุมชน ได้เล่าประสบการณ์ในการลงพื้นที่ให้ฟังว่า ตนชอบงานบริการด้านสาธารณสุขเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอได้มีโอกาสได้รับเลือกเป็น 1 ใน 4 แกนนำ “อสม.เยาวชน” ตัวแทนจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและอันตรายที่เกิดจากโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี จึงอยากจะนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมมาถ่ายทอดให้กับคนในท้องถิ่น ได้เห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดี และรู้จักวิธีห่างไกลมะเร็งตับ ซึ่งผมและเพื่อนๆ รวมถึงน้องๆ ในมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกันระดมความคิดวางแผนจัดกิจกรรมรณรงค์
      
       “กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ผมทำจะเน้นการสร้างสรรค์กิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านทุกเพศทุกวัยในพื้นที่บ้านแวง ซึ่งถือเป็นพื้นที่สีแดงจากการสำรวจและเก็บข้อมูลโดยสำนักงานสาธารณสุขประจำอำเภอ โดยมีข้อมูลสถิติจำนวนประชากรที่ตรวจอุจจาระแล้วพบพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีสูงที่สุดในตำบลหมูม่น ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละคุ้มแต่ละบ้าน ก็จะมีความยากง่ายในการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกัน”
      
       สำหรับบทบาทหน้าที่ของเปี๊ยกคือ การประสานงานเตรียมพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดให้ชาวบ้านอยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่มีความท้าทาย “ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ชาวบ้านให้ความร่วมมือ และนี่ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผมที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสตอบแทนท้องถิ่น และมีส่วนทำให้ชาวบ้านแวง มีอัตราการป่วยและการติดเชื้อที่ลดลง รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินในระยะยาว ซึ่งจะทำให้บ้านแวงหลุดพ้นจากการเป็นพื้นที่สีแดงได้ในที่สุด”
      
       ทางด้าน “เอมมี่” อลิสา สารจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อีกหนึ่งพลังสำคัญของ “อสม.เยาวชน” จังหวัดอุดรธานี บอกเล่าถึงรายละเอียดของกิจกรรมในการให้ความรู้แก่ชาวบ้านให้ฟังว่า “ระยะแรกของการลงพื้นที่ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง ด้วยความที่เป็นเด็ก บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะไม่ค่อยเชื่อในสิ่งที่พูดสักเท่าไหร่ จึงต้องมาช่วยกันระดมสมอง มองหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ค่อยๆ ซึมซับข้อมูล และยอมทำลายกำแพงความเชื่อลงทีละน้อย ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดหาหนทางประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อจะได้เป็นกระบอกเสียงและนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่ออีกทอดหนึ่ง
      
       “กิจกรรมหลักๆ ที่เรานำไปลงพื้นที่เราจะเน้นความครบวงจร เรียกได้ว่า ได้ทั้งความสนุกพร้อมทั้งได้ความรู้ในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การแสดงบทบาทสมมติ ที่จะหยิบยกนำวิถีชีวิตใกล้ตัวของชาวบ้านมาสร้างสรรค์เป็นบทละครสั้นพร้อมอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่น่าสนใจ สำหรับกลุ่มเด็กเราจะเพิ่มลูกเล่นลงไปด้วยการเล่าเรื่องผ่านหุ่นละครมือ ซึ่งบทละครก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีความหลากหลาย นอกจากนี้ ยังมีเต้นรีวิวประกอบเพลงรณรงค์ประจำโครงการ การคิดค้นเนื้อเพลงใหม่ๆ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไปใน แต่ละพื้นที่ รวมถึงการเล่นเกมวงจรเกิดโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี เกมตอบคำถามชิงรางวัล การสร้างการจดจำด้วย Mascot ลุงสุกลุงดิบ การประกวดเพ้นท์เสื้อรณรงค์ การประกวดร้องเพลงประจำโครงการในรูปแบบคาราโอเกะ การสาธิตวิธีการปรุงอาหารพื้นบ้านที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ ล้วนมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้ตื่นตัวเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากสุกๆ ดิบๆ เป็นการกินอาหารที่ปรุงสุก และตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดี ที่เป็นภัยใกล้ตัวที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม”
      
       เช่นเดียวกับ 2 สาว เพื่อนซี้ อย่าง “ฟ้า” อินทุกร อุทุมมา และ “อาย” วลัยลักษณ์ สารทรัพย์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปีที่ 3 สาขาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น บอกเล่าถึงความรู้สึกและประสบการณ์ในการลงพื้นที่ให้ฟังว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาทำงานเพื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะการได้นำเอาความรู้ที่ได้รับจากการอบรมเรื่องมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีมาเผยแพร่ให้พ่อแม่พี่น้องชาวตำบลพระลับ เพราะในแต่ละหมู่บ้านยังคงมีกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีอยู่ประมาณ 10% ถึงแม้ตัวเลขจะดูไม่เยอะมาก แต่หากคนกลุ่มนี้ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีในที่สุด และผลเสียที่เกิดขึ้นก็จะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทั้งตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และสังคม
      
       “เราต้องร่วมมือร่วมใจกันในการคิดแผนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้มีความแข็งแกร่ง โดยพวกเราได้มีการจัดตั้งชมรม “อสม.น้อย วอศ.ขอนแก่น” เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือและเพิ่มจำนวนอาสาสมัครเข้าเป็นแนวร่วมในการรณรงค์ นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งทีมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของแต่ละหมู่บ้าน ด้วยการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในการให้ข้อมูลที่เป็นความจริง ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย อายุประมาณ 40-50 ปี ที่ยังคงมีพฤติกรรมการกินสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเมนูก้อยปลา ที่ส่วนใหญ่บอกว่า ถ้าต้องทำให้สุก รสชาติก็จะไม่อร่อย และไม่ใช่ก้อยปลาขนานแท้ และจากข้อมูลเหล่านี้ เราก็นำเอามาคิดต่อยอดเป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์
      
       ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นสำคัญ เช่น การจัดกิจกรรมบรรยายความรู้พร้อมอุปกรณ์ประกอบการบรรยายที่จะทำให้เห็นภาพวงจรการเกิดโรคได้ง่ายมากยิ่งขึ้น การพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างชาวบ้าน เครือข่ายอสม.เยาวชน และหน่วยงานในท้องถิ่น รวมทั้งการจัดกิจกรรม เล่นเกมตอบคำถามชิงรางวัล กิจกรรมสันทนาการร้องเพลงประจำโครงการ การแข่งขันสาธิตการปรุงอาหาร การจัดทำป้ายสารสนเทศ เอกสารแผ่นพับ ป้ายผ้ารณรงค์ รวมถึงการจัดรายการวิทยุชุมชนทุกวันเสาร์และอาทิตย์เผยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมหันตภัยของมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีและสารพันวิธีป้องกันที่สามารถเข้าถึงชาวบ้าน ในทุกแหล่งชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งพวกเราคาดหวังว่า การรณรงค์ในครั้งนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนท้องถิ่น เพื่อลดอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคให้น้อยที่สุดจนถึงขั้นไม่มียอดผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว”

      
       เหล่านี้คือการแสดงพลังของเหล่า “อสม.เยาวชน” กับการเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ที่ทุกคน ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นภาคอีสานได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยมากยิ่งขึ้น และยังถือเป็นการร่วมมือกันยกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นให้สามารถห่างไกลมหันตภัยร้ายใกล้ตัวอย่างมะเร็งตับชนิดเซลล์ท่อน้ำดีได้ในระยะยาว

   
เปี๊ยก - ทรงพล พันโยศรี ม.ราชภัฏอุดรธานีเอมมี่ - อลิสา สารจันทร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี
   
   
   
ฟ้า - อินทุกร อุทุมมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่นอาย - วลัยลักษณ์ สารทรัพย์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น