แต่เมื่อได้รับฟังข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีจำนวนผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นล้านคน แต่มีจำนวนเด็กที่อยู่รอดเป็นทารกเพียงแปดแสนกว่าคนเท่านั้น แสดงว่าในระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิชีวิตใหม่จนคลอดและมีชีวิตรอดออกจากครรภ์มารดาได้ ต้องมีจำนวนทารกถึงสองแสนกว่ารายที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดนอกครรภ์มารดาได้ ดังนั้นปรากฏการณ์ซากศพทารกในวัดไผ่เงินนี้ อาจเป็นแค่ “ยอดน้ำแข็งในทะเล”เท่านั้น
ทารกสองแสนกว่าราย ที่ไม่อาจมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย และไม่ปรากฏชื่อ-สกุลตามทะเบียนบ้าน สะท้อนภาพความจริงของปัญหาอีกหลากหลายเรื่องในสังคมไทย
โดยที่เราไม่อาจจะโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง แต่เพียงฝ่ายเดียว..ได้ด้วย และเราคงต้องหันมาใส่ใจปัญหาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันถึงกันด้วย เพื่อมองหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างรอบด้าน
เช่น ทำไม? ต้องมีการทำแท้ง เนื่องจากมีการตั้งท้องที่ไม่พร้อมใช่หรือไม่?
และเหตุใด จึงเกิดปัญหา “ท้องไม่พร้อม”
แค่คำถามนี้ คำถามเดียว ก็ได้คำตอบ อีกนับสิบ นับร้อย คำตอบ
และคำตอบที่ได้ยินบ่อยๆ คงหนีไม่พ้น สังคมเสื่อม, ศีลธรรมเสื่อม, ค่านิยมวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมเสื่อม ฯลฯ
แล้วเราจะแก้ปัญหาความเสื่อมเหล่านี้ได้อย่างไรล่ะค่ะ?
ถ้าเป็นกรณี "ท้องแล้วไม่มีคนรับ" จนหาทางออกไม่ได้ เป็นปัญหาของการทำแท้งด้วยหรือไม่?
หรือ “ท้องแล้วเดือดร้อน” เพราะฐานะยากจน ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงลูกได้ล่ะ?
แล้วทำไม? ผู้หญิงถึงตั้งท้องขึ้นมาได้ ..รักสนุกอย่างนั้นหรือ? หรือขาดความรู้ในการคุมกำเนิด?
แล้วเราจะช่วยกันป้องกันการตั้งท้องไม่พร้อมได้อย่างไร?
ตอนนี้ ท้องแล้ว จะให้ทำอย่างไร?
ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ การตั้งท้องเกิดจากผู้ชายและผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กัน
แล้วหน้าที่ป้องกันการตั้งท้อง ควรเป็นหน้าที่ของใคร ?
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นเพราะผู้หญิงมีมดลูกใช่หรือไม่???
“มดลูก” กล้ามเนื้อก้อนหนึ่งที่มีขนาดเท่าไข่ไก่หรือกำปั่น กับคุณสมบัติพิเศษที่สามารถยืดขยายใหญ่ขึ้นเป็นสิบเท่า เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลา 40 สัปดาห์ ควรจะเป็นอวัยวะสำคัญและมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
แต่ “มดลูก” อาจกลับกลายเป็นอวัยวะที่สร้างความเจ็บปวด อับอาย และอันตราย ให้กับผู้หญิงผู้เป็นเจ้าของได้ หากผู้หญิงคนนั้นไม่สามารถดูแลอวัยวะนี้ได้ดีพอ ..ช่างน่าเศร้าเหลือเกิน
เมื่อปีที่แล้ว มีข้อมูลว่า ทั่วโลกมีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งราว 50,000-100,000 คน ในประเทศไทยเองได้มีการเก็บข้อมูลในโรงพยาบาลของรัฐ และพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจากการแท้งลูก มาด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด อุ้งเชิงกรานอักเสบ ตกเลือดจนต้องให้เลือด และมดลูกทะลุ หรือหมดโอกาสมีลูกได้อีกตลอดชีวิต
อวัยวะภายในร่างกายของผู้หญิงเอง ซึ่งควรเป็นสิทธิธรรมชาติของผู้หญิงที่จะมีอำนาจตัดสินใจเลือกจะกระทำอย่างไรก็ได้ เนื่องจากเป็นเนื้อตัวร่างกายของตนเอง แต่สังคมและกฎหมายไทยยังเห็นว่า “คุณไม่สามารถกระทำอย่างถูกกฎหมายได้”
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 บัญญัติให้ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ โดยไม่ผิดกฎหมายเพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ ผู้หญิงจำเป็นต้องทำแท้งอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงอย่างร้ายแรง และการที่ผู้หญิงนั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ เป็นต้น
การแก้ไขปัญหาทำแท้ง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคสังคม และภาคประชาชน เราต้องสร้างความตระหนักและตระหนกร่วมกัน เพื่อการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที
ภาครัฐ อย่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เตรียมตรวจดีเอ็นเอซากศพเด็กทารกทั้งสองพันสองรายนี้ จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบได้ แต่เมื่อได้ยินข่าวดังกล่าว ก็ได้แต่ตั้งคำสงสัยว่า จะตรวจดีเอ็นเอเพื่ออะไร ?
หากต้องการหาตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่มีเนื้อหาว่า
“ หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งความผิดฐานทำให้แท้งลูกนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ค้นหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งก็คือ หญิงที่ทำแท้ง ส่วนผู้หญิงที่กระทำเมื่อรู้ว่าหากตนยอมรับว่าทำแท้งลูก ตนก็จะมีความผิดอาญา แล้วใครจะออกมายอมรับว่าตนกระทำไปแล้วบ้าง มีแต่จะพยายามลืมเลือนเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปเสียให้หมด
หากคิดจะค้นหาผู้กระทำความผิดด้วยวิธีการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อให้ทราบถึงความเกี่ยวพันทางสายเลือดเป็นแม่ลูกกันนั้น เมื่อไม่มีใครออกมายอมรับก็คงต้องเชิญผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วทั้งเมืองมาตรวจดีเอ็นเอกัน ถามว่า มีกฎหมายฉบับใดที่สามารถบังคับให้ผู้หญิงทั้งหมดมาตรวจดีเอ็นเอได้ ?
และก็ไม่รู้ว่าต้องสุ่มตรวจผู้หญิงจำนวนกี่พันกี่หมื่นคนเพื่อให้เจอะเจอผลดีเอ็นเอที่มีความคล้ายคลึงกันจนสามารถจับคู่กันได้ว่าเป็นแม่ลูกกันจริงๆ และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอต่อรายก็ไม่ใช่น้อยๆ เป็นจำนวนหลายพันบาท หากต้องตรวจเป็นพันเป็นหมื่นราย คงหมดงบประมาณอีกนับสิบๆ ล้านบาทแล้วได้ตัวผู้กระทำผิดสักรายสองราย เป็นการแก้ไขปัญหาที่คุ้มค่าแล้วหรือ?
ความจริง ขณะนี้ได้มีข้อเสนอจากเครือข่ายสตรีว่า ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ไม่ควรมีบทลงโทษเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ควรมีบทลงโทษผู้ชายด้วย ซึ่งในหลายประเทศก็ได้บัญญัติบทลงโทษผู้ชายที่ทำให้เกิดการทำแท้ง เพื่อเป็นการเตือนสติคุณผู้ชายทั้งหลายให้ตระหนักว่า การจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนใดในขณะที่คุณยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบครอบครัว คุณเองก็ควรมีความรับผิดชอบในการป้องกันการตั้งท้องให้กับผู้หญิงด้วย อย่าผลักภาระนี้ให้ผู้หญิงต้องป้องกันการตั้งครรภ์แต่เพียงฝ่ายเดียวเลย
แนวทางแก้ปัญหาในลักษณะเช่นนี้ คุณผู้ชายทั้งหลายเห็นด้วยไหมคะ?
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น