วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

360 องศา: ผลวิจัยชี้น้องหมามี ‘คิดบวก-ลบ’




นักวิจัยพบว่าหมามีทั้งมองโลกแง่ร้ายและแง่ดีเหมือนคน
       เอเจนซีส์ – ถ้าเจ้าหมาหงุดหงิดเมื่อคุณเดินออกจากบ้าน แปลว่ามันอาจมองโลกแง่ร้าย งานวิจัยเมืองผู้ดีแสดงให้เห็นว่าสุนัขบางตัวเชื่อว่ามีน้ำอยู่ครึ่งชาม ขณะที่บางตัวเชื่อว่าน้ำพร่องไปครึ่งชาม เช่นเดียวกับคนเรา
       
        ดังนั้น น้องหมาที่มองโลกแง่ดีโดยธรรมชาติจึงมั่นใจว่าเจ้าของจะกลับมา ในทางกลับกัน น้องหมาที่มองโลกแง่ร้ายจะคิดว่าตัวเองถูกทิ้ง
       
        แม้การค้นพบว่าเจ้าตูบมีลักษณะนิสัยหลายอย่างเหมือนมนุษย์อาจไม่ได้ทำให้เจ้าของแปลกใจ แต่นักวิจัยบอกว่าผลศึกษานี้สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมสัตว์บางตัวจึงยังมีความสุขแม้ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ขณะที่บางตัวกังวลเมื่อต้องอยู่ตัวเดียว
       
        “เราสามารถใช้การค้นพบจากการวิจัยด้านจิตวิทยามนุษย์มาพัฒนาแนวทางในการตรวจวัดอารมณ์ของสัตว์
       
        “เรารู้ว่าสภาวะอารมณ์ของคนเรามีผลต่อวิจารณญาณ และคนที่มีความสุขมีแนวโน้มตัดสินสถานการณ์คลุมเครือในแง่บวก
       
        “การศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า รูปแบบนี้ใช้ได้กับสุนัขเช่นเดียวกัน นั่นคือสุนัขที่เชื่อว่ามีน้ำอยู่ครึ่งแก้วมีแนวโน้มกังวลเมื่อต้องอยู่ตัวเดียวน้อยกว่าสุนัขที่มองโลกแง่ลบ” ศาสตราจารย์ไมค์ เมนด์ จากกลุ่มวิจัยพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของสัตว์ มหาวิทยาลัยบริสตอลของอังกฤษ ผู้นำการวิจัย อธิบาย
       
        ทีมนักวิจัยศึกษาสุนัข 24 ตัวในศูนย์ช่วยเหลือสุนัขจรจัด 2 แห่ง ขั้นตอนแรกสุนัขแต่ละตัวจะถูกประเมินว่ามีความกังวลเมื่ออยู่ตัวเดียวหรือไม่ โดยดูจากพฤติกรรม เช่น การเห่า ทำลายข้าวของ รือขีดข่วนประตู
       
        จากนั้น สุนัขทุกตัวจะถูกฝึกให้คาดหวังว่าเมื่อชามถูกนำไปวางในจุดหนึ่งในห้อง จะมีการเติมอาหารในชามนั้น แต่เมื่อนำไปวางอีกที่ ชามจะว่างเปล่า
       
        หลังจากที่สุนัขเรียนรู้ว่ามีเพียงบางชามเท่านั้นที่มีอาหาร นักวิจัยจะนำชามไปวางในจุด ‘กึ่งกลาง’ ในห้อง
       
        สุนัขที่วิ่งไปหาชามใบนั้นเพราะคาดว่าจะมีอาหารถือว่ามองโลกแง่ดี แต่สุนัขที่ไม่สนใจชามใบนั้นถือว่ามองโลกแง่ร้าย และนักวิจัยพบว่าสุนัขที่กังวลเมื่ออยู่ตัวเดียวมีแนวโน้มมองโลกแง่ลบมากกว่า
       
        อนึ่ง การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากอาร์เอสพีซีเอ มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในอังกฤษและเวลส์ และเผยแพร่อยู่ในวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี้


ที่มาข้อมูล : http://kruhumnoi.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น